เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีที่มีทั้งคุณและโทษ
โดย : วณิชชา สุมานัส
ทบทวนบทความโดย : ทีมแพทย์จากเช็คสุขภาพ
รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีที่มีทั้งคุณและโทษ

รังสีอัลตราไวโอเลต หรือ รังสียูวี (Ultraviolet) หรือในชื่อภาษาไทยว่า รังสีเหนือม่วง ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มองเห็น แต่ยาวกว่ารังสีเอกซ์อย่างอ่อน มีความยาวคลื่นในช่วง 400-100 นาโนเมตร และมีพลังงานในช่วง 3-124 eV ได้ชื่อดังกล่าวเนื่องจากสเปกตรัมของมันประกอบด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงกว่าคลื่นที่มนุษย์มองเห็นเป็นสีม่วง

แหล่งกำเนิด:

  1. การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ (Solar Radiation) เป็นแหล่งกำเนิดอันดับต้น ๆ ของรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อดวงอาทิตย์แผ่รังสีอัลตราไวโอเลตมายังโลก รังสีจะประกอบด้วย ยูวีซี (UVC) ยูวีบี (UVB) และยูวีเอ (UVA) รวมถึงช่วงคลื่นที่มนุษย์มองเห็น และรังสีอินฟาเรด อย่างไรก็ตาม รังสีบางส่วนจะถูกดูดซับในชั้นบรรยากาศ และส่วนที่เหลือสามารถส่องลงมายังพื้นผิวโลก ในระดับที่ปกติแล้ว จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
  2. แหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (Artificial Source) ได้แก่วัตถุทุกชนิดที่ถูกทำให้ร้อน จนมีอุณหภูมิสูงมากกว่า 2,500 องศาเคลวิน ซึ่งสามารถปล่อยรังสีอัลตราไวโอเลตได้ ซึ่งเป็นวัตถุอุปกรณ์ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น สำหรับการใช้ประโยชน์ทางด้านต่าง ๆ เช่น ทางการแพทย์ ทางเกษตรกรรม เป็นต้น

ขนาดของรังสีอัลตราไวโอเลต:

  • ยูวีเอ คลื่นขนาดยาว 400-315 nm. มีพลังงานต่ำ แต่สามารถแทรกลงผิวที่ลึกกว่าขนาดของรังสีอัลตราไวโอเลตอื่น ๆ หากสัมผัสในระยะเวลานานและต่อเนื่อง จะทำให้ผิวหนังอ่อนล้า เสื่อมเร็ว และดูซับมากกว่ารังสีอัลตราไวโอเลตขนาดอื่น ๆ
  • ยูวีบี คลื่นขนาดกลาง 315-280 nm. มีพลังงานระดับกลาง สามารถเข้าสู่ผิวหนัง และถูกดูดซับไว้ รังสียูวีบีมีผลสามารถทำลายดีเอ็นเอและเกิดมะเร็งส่วนผิวหนังได้
  • คลื่นสั้น หรือ Germicide 280-100 nm

การค้นพบ:

 หลังจากที่รังสีอินฟราเรดถูกค้นพบ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อ โยฮันน์ วิลเฮล์ม ริตเตอร์ (Johann Wilhelm Ritter) ได้ทดลองค้นหารังสีที่อยู่ตรงข้ามกับรังสีอินฟราเรด นั่นคือ รังสีอินฟราเรดมีความยาวคลื่นยาวกว่าแสงสีแดง แต่ริตเตอร์ต้องการจะหารังสีชนิดหนึ่งที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าสีม่วง เขาได้ใช้กระดาษอาบซิลเวอร์คลอไรด์วางไว้กลางแดด พบว่ากระดาษนั้นเปลี่ยนเป็นสีดำ ริตเตอร์เรียกรังสีนี้ว่า รังสีดีออกซิไดซิ่ง (Deoxidizing Rays) ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็นรังสีอัลตราไวโอเลตดังเช่นในปัจจุบัน

ประโยชน์ของรังสีอัลตราไวโอเลต:

รังสีอัลตราไวโอเลตนั้นมีประโยชน์มากมาย สามารถกล่าวคร่าว ๆ ได้ดังต่อไปนี้

     1) แบล็กไลต์ (Black Light) เป็นหลอดที่เปล่งรังสีอัลตราไวโอเลตคลื่นยาว มีสีม่วงดำ ใช้ตรวจเอกสารสำคัญ เช่น ธนบัตร หนังสือเดินทาง บัตรเครดิต ฯลฯ ว่าเป็นของจริงหรือปลอม หลายประเทศได้ผลิตลายน้ำที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในรังสีชนิดนี้ นอกจากนี้ แบล็กไลต์ยังสามารถใช้ล่อแมลงให้มาติดกับในการทำเกษตรกรรม

      2) หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดเรืองแสง ใช้หลักการผลิตรังสีอัลตราไวโอเลต โดยการทำให้ไอปรอทแตกตัว รังสีที่ได้จะไปกระทบสารเรืองแสงให้เปล่งแสงออกมา 

      3) ในทางดาราศาสตร์ โดยปกติแล้ววัตถุที่ร้อนมากจะเปล่งรังสีอัลตราไวโอเลตออกมา เราจึงสามารถศึกษาวัตถุท้องฟ้าได้โดยผ่านทางรังสีอัลตราไวโอเลต ทว่าต้องไปปฏิบัติในอวกาศ เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตส่วนมากถูกโอโซนดูดซับไว้หมด 

       4) การวิเคราะห์ รังสีอัลตราไวโอเลต สามารถใช้ตรวจวิเคราะห์แร่ได้ แม้ว่าจะดูเหมือนกันภายใต้แสงที่มองเห็น แต่เมื่อผ่านยูวีแล้วก็จะเห็นความแตกต่างได้

        5) รังสีอัลตราไวโอเลต สามารถใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะในน้ำดื่ม และยังสามารถนำไปฆ่าเชื้อในเครื่องมือ หรืออาหารได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้กับเครื่องกรองน้ำอย่างแพร่หลาย

โทษ:

รังสีอัลตราไวโอเลตช่วง ยูวีซี มีพลังงานสูงที่สุด และที่สำคัญคืออันตรายที่สุด แต่พบได้น้อยเพราะบรรยากาศกรองเอาไปหมดแล้ว ทว่าเครื่องมือฆ่าเชื้อในน้ำดื่มอาจปล่อยรังสีช่วงนี้ออกมาก็ได้

รังสีอัลตราไวโอเลตทั้งสามชนิดคือ ยูวีเอ ยูวีบี และยูวีซีสามารถทำให้คอลลาเจนในผิวหนังเสื่อมสภาพได้ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย แต่ยูวีเอมีความรุนแรงน้อยที่สุด เพราะไม่สามารถก่อให้เกิดอาการแดดเผา (Sunburn) ทว่ายังน่ากลัวอยู่ที่สามารถแปลงสภาพ DNA ได้ จนอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง แต่ร่างกายก็สามารถป้องกันได้ โดยการสร้างเม็ดสีเมลานินขึ้นมา เพื่อป้องกันการทะลวงของยูวี จึงทำให้ผิวคล้ำดำมากขึ้น

นอกจากผิวหนังแล้ว ยูวียังเป็นอันตรายต่อดวงตา โดยเฉพาะ ยูวีบี ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า อาร์ค อายย์ (Arc eye) คือรู้สึกเหมือนมีทรายเข้าตา หรือถ้ารุนแรงกว่านั้นอาจทำให้เป็นโรคต้อกระจก (Cataract) ได้ โดยเฉพาะในหมู่ช่างเชื่อมโลหะ การป้องกันก็คือ สวมใส่แว่นกันแดดป้องกัน หรือทาโลชั่นที่มีค่า SPF 50+

เว็บไซต์ “เช็คสุขภาพ” อยากให้ทุกคนมี สุขภาพดี หมั่นตรวจสุขภาพ ดูแลตัวเองให้มี สุขภาพดี แลลงทะเบียนรับข่าวสารเกี่ยวกับ เช็คสุขภาพ เพื่อพร้อมสุขภาพร่างกายให้เป็นคนมี สุขภาพดี เสมอ อนึ่ง เว็บไซต์ “เช็คสุขภาพ” ไม่ได้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Wiki. (2561). รังสีอัลตราไวโอเลต. แหล่งที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/รังสีอัลตราไวโอเลต.     เข้าถึงข้อมูล: 3 มิถุนายน 2561

SkinCancer. (2018). UVA&UVB. แหล่งที่มา: https://www.skincancer.org/prevention/uva-and-uvb.   เข้าถึงข้อมูล: 3 มิถุนายน 2561 

Cancer. (2018). What is Ultraviolet (UV) Radiation?. แหล่งที่มา: https://www.cancer.org/cancer/skin-cancer/prevention-and-early-detection/what-is-uv-radiation.html.   เข้าถึงข้อมูล: 3 มิถุนายน 2561

LiveScience. (2018). What is Ultraviolet Light?. แหล่งที่มา: https://www.livescience.com/50326-what-is-ultraviolet-light.html.   เข้าถึงข้อมูล: 3 มิถุนายน 2561

03/06/2018
บทความที่เกี่ยวข้อง

ทุกวันนี้ บุคคลิกภาพสำคัญมาก ไม่ว่าจะไปที่ไหน ไม่ว่าจะทำอะไร เสื้อผ้าหน้าผมเป๊ะคงไม่พออีกแล้ว แต่ผิวหน้าและรูปลักษณ์



จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE) สมุนไพรบัวบก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักหนอก (ภาคเหนือ) ผักแว่น (ภาคใต้) กะโต่ เป็นต้น จัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดในแถบเอเชีย



ตะไคร้เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ขึ้นอยู่รวมเป็นกอ อายุหลายปี สูง 1 เมตร ลำต้นตั้งตรง มีข้อและปล้องสั้น ๆ ค่อนข้างแข็ง ลำต้นส่วนที่อ่อนมีใบเรียงซ้อนกันแน่นมาก


CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว