เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / ม.มหิดล-อภ.พัฒนา ผลิต ‘วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี’ จากเชื้อในประเทศ
โดย : เอกพล สุวรรณหงษ์
ทบทวนบทความโดย : ทีมแพทย์เช็คสุขภาพ
ม.มหิดล-อภ.พัฒนา ผลิต ‘วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี’ จากเชื้อในประเทศ

1 กรกฎาคม 2561 --- กรุงเทพ, สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ หนุน ม.มหิดล และ อภ. พัฒนา “วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี” สู่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจากเชื้อต้นตอที่พบในประเทศช่วยลดปัญหาขาดแคลน สร้างความมั่นคงด้านวัคซีน

นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า “โรคไข้สมองอักเสบเจอี” เป็นโรคไข้สมองอักเสบที่พบมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เจอี (Japanese encephalitis: JEV) โดยมียุงรำคาญเป็นพาหะ ผู้ติดเชื้อไวรัสเจอีส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการแต่ถ้ามีอาการมักรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการ สำหรับในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยกำหนดให้เป็นวัคซีนขั้นพื้นฐานที่ต้องให้บริการแก่เด็กไทยทุกคน จำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ 2 ให้เมื่ออายุ 1 ปี และครั้งที่ 3 เป็นการกระตุ้น ให้เมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง ส่งผลให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบเจอีในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดเป็นแหล่งรังโรค เช่น สุกร สุนัข วัว ควาย เป็นต้น ทำให้การกำจัดโรคให้หมดไปทำได้ยาก หากหยุดการให้วัคซีนเชื่อว่าโรคจะกลับมาระบาดอีก จึงจำเป็นต้องให้วัคซีนชนิดนี้ต่อไปอีกนานในอนาคต จึงควรที่จะพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนให้ได้เองตั้งแต่ต้นน้ำ นอกจากเป็นการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน ลดการนำเข้า สร้างศักยภาพการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพแล้ว ยังสามารถส่งออกได้ในอนาคต

นพ.จรุง กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมาสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงเรื่อง “วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี” ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและองค์การเภสัชกรรม เพื่อร่วมวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์จากเซลล์เพาะเลี้ยง ให้เป็นวัคซีนในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ

โดยในระยะแรกเน้นเป้าหมายตั้งแต่การพัฒนาวัคซีนต้นแบบในห้องปฏิบัติการจนถึงขั้นตอนการทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลอง และการทดสอบความปลอดภัยที่ไม่ได้ทําในมนุษย์ (Non-clinical safety test) โดยผ่านการทดสอบวัคซีนในเบื้องต้นก่อนนำไปผลิตจากสายพันธุ์เชื้อตั้งต้น การพัฒนากระบวนการที่ใช้ในการเตรียมวัคซีนต้นแบบโดยใช้เชื้อต้นแบบที่ได้มาตรฐาน GMP

โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ จะสนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณในการวิจัยพัฒนาวัคซีน รวมถึงประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนบริหารโครงการโดยแต่งตั้งผู้จัดการโครงการ ทำหน้าที่ประสานผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานพันธมิตรและเครือข่ายต่างๆ เพื่อผลักดันให้สามารถผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี จนได้ผลการตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการติดตามและประเมินโครงการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้โครงการสำเร็จตามเป้าหมาย และนำไปสู่การพัฒนาในระดับอุตสาหกรรม สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยพัฒนาและในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่นำไปสู่การผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี

ในขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดลโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล จะทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในห้องปฏิบัติการตั้งแต่การเตรียมสายพันธุ์เชื้อและการทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลอง การทดสอบกรอบความเป็นไปได้ของแนวคิด (Proof of concept) และร่วมดำเนินการเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำในมนุษย์ โดยการสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรที่มีความจำเป็นต่อการวิจัยพัฒนาสู่การผลิตวัคซีน

ส่วนองค์การเภสัชกรรมโดยฝ่ายชีววัตถุจะทำการวิจัยพัฒนาสู่การผลิตวัคซีนต้นแบบ ทำหน้าที่ในการพัฒนากระบวนการเลี้ยงเชื้อและแยกตัวเชื้อให้มีความบริสุทธิ์เพียงพอเพื่อทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลอง ร่วมการทดสอบกรอบความเป็นไปได้ของแนวคิด (Proof of concept) เพื่อเตรียมการในระยะถัดไป ได้แก่ การผลิตหัวเชื้อที่ได้มาตรฐาน GMP และการพัฒนากระบวนการ (GMP seed &process development) รวมทั้งการตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการโดยการสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรที่มีความจำเป็นต่อการวิจัยพัฒนาสู่การผลิตวัคซีน

นพ.จรุง ยังกล่าวด้วยว่า ข้อดีของความร่วมมือในการวิจัยพัฒนา “วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี” ในครั้งนี้ จะช่วยให้ได้วัคซีนที่ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ที่ผลิตในเซลล์เพาะเลี้ยงลดการใช้สัตว์ทดลอง เป็นวัคซีนที่ผลิตจากหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบที่เกิดจากการวิจัยในประเทศและตรงกับสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรค ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง

ซึ่งผลการวิจัยสามารถนำไปต่อยอดในการผลิตวัคซีนตัวอื่นที่ใช้แบบเพาะเลี้ยงเซลล์ได้ เช่น วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้ซิกา วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีมาตรฐานสากลระดับนานาชาติ และพัฒนาต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมต่อไปได้ เป็นการเพิ่มทางเลือก ด้วยการมีวัคซีนทดแทนที่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนวัคซีนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และนอกจากนี้วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอียังนับเป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานที่สามารถผลิตขึ้นได้เอง ตามเป้าหมายระยะ 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนประเทศไทยด้วย

แหล่งที่มา: 

สถาบันวัคซีน (2561). สถาบันวัคซีน

ถามหมอ. (2561). ถามหมอ.

เช็คสุขภาพ. (2561). เช็คสุขภาพ.

01/07/2018
บทความที่เกี่ยวข้อง

ประกาศแล้วในราชกิจจานุเบกษา ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 60,000 บาท



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาวิธิการตรวจไวรัสซิกา โดยตรวจวัดปริมาณแอนติบอดี ด้วยวิธี PRNT



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก จากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ โดยการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว


CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว