เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / อย. เตรียมดำเนินคดี ควีนเฮิร์บ ไม่ขออนุญาต โฆษณาเกินจริง
โดย : เอกพล สุวรรณหงษ์
ทบทวนบทความโดย : ทีมแพทย์เช็คสุขภาพ
อย. เตรียมดำเนินคดี ควีนเฮิร์บ ไม่ขออนุญาต โฆษณาเกินจริง

อย.เตือนพบผลิตภัณฑ์ 3 ตัวควีนเฮิร์บ (Queen Herb) ไม่ขออนุญาต แถมโฆษณาเกินจริงทางสื่อออนไลน์ อ้างลดอ้วน และบำบัดสารพัดโรคร้ายแรง อย.ดำเนินการระงับโฆษณา เร่งแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อมารับประทาน อาจได้รับอันตรายจากผลข้างเคียง

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า รับประทานผลิตภัณฑ์อ้างลดน้ำหนัก ควีนเฮิร์บ (Queen Herb) แล้วมีอาการใจสั่น รู้สึกวูบวาบและเมื่อนำเลขสารบบอาหาร 13-1-04358-1-0032 ไปตรวจสอบในฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ อย. แล้วไม่พบข้อมูลใด ๆ ซึ่ง อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยพบมีการโฆษณาทางเฟซบุ๊ก ระบุข้อความ เช่น “Queen Herb ยาลดน้ำหนักสมุนไพร 100 %” โฆษณาสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ ควีนเฮิร์บ (Queen Herb) สูตร 1 กระปุกทอง เป็นข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น เหมาะกับคนธรรมดาถึงดื้อยา สวย ครบ จบ ปิ๊ง

นอกจากนี้ ยังพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควีนเฮิร์บ (Queen Herb) สูตร 2 High Slim Plus ที่มีคำโฆษณาชวนเชื่อว่า เหมาะกับคนที่ดื้อยาต้องการลดน้ำหนักแบบเร่งด่วน และผลิตภัณฑ์ ควีนเฮิร์บ (Queen Herb) สูตร Detox ที่มีคำโฆษณาชวนเชื่อว่า ถ่ายง่าย เห็นผลภายใน 1 วัน แก้ท้องผูกเรื้อรัง ลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ผิวพรรณขาว สดใส เห็นผลภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งการโฆษณาทางสื่อโซเชียลมีเดียดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตจาก อย. และเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง

ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลในระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ไม่พบข้อมูลการอนุญาตผลิตภัณฑ์ในชื่อดังกล่าวแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยามีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนี้ อย.ได้มีหนังสือสั่งระงับการโฆษณา และส่งหลักฐานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย พร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อประกอบการดำเนินคดีลงโทษตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวัง อย่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีรายชื่อดังกล่าวมารับประทาน และอย่าหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หากต้องการมีรูปร่างดี ควรออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม ก็สามารถมีสุขภาพและรูปร่างที่ดีได้ ทั้งนี้ อย. ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างใกล้ชิด และขอให้ผู้บริโภคช่วยกันสอดส่อง หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

04/08/2018
บทความที่เกี่ยวข้อง

จับตาสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง หลังพบสถิติผู้ป่วยประเทศไทยรั้งอันดับ 5 ของโลก ระบุหากไม่มีนโยบายการคัด



กรมบัญชีกลางชี้แจงหลักการและเหตุผลในการกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายารักษาโรคมะเร็ง และโลหิตวิทยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง



เภสัชกรเตือน การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักที่มีสารอันตราย นอกจากเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด


CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว