เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / แพทย์สาขามะเร็งไทย ปรับตัวอย่างไรรับนิวนอร์มอล
โดย : ทีมเช็คสุขภาพ
ทบทวนบทความโดย : ทีมแพทย์เช็คสุขภาพ
แพทย์สาขามะเร็งไทย ปรับตัวอย่างไรรับนิวนอร์มอล

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน รวมถึงวิถีชีวิตของคนทั่วไป และรวมไปถึงวิธีที่ผู้ป่วยจะสามารถเข้าพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจรักษาได้ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย จำเป็นต้องเลื่อนการนัดพบแพทย์ หรือการตรวจรักษา ซึ่งโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ด้านมะเร็งหลาย ๆ แห่ง ก็ได้ขอเลื่อนการรักษา หรือผ่าตัดในรายที่ไม่เร่งด่วนออกไป ทั้งนี้ ในหลาย ๆ ประเทศ การนัดพบแพทย์ของผู้ป่วยมะเร็งมีจำนวนลดน้อยลง ตัวอย่างการศึกษาในอินเดียแสดงให้เห็นว่า การผ่าตัดโรคมะเร็งถูกเลื่อนออกไป 59.7% เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยกว่า 50,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยที่รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีอยู่แล้ว ทั้งแวดวงสาธารณสุขและตัวผู้ป่วยเองอาจรับมือกับสถานการณ์นี้แตกต่างจากประเทศอื่น

2_9

การแพทย์สาขามะเร็งไทยปรับตัวอย่างไรรับนิวนอร์มอล

พ.ท.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า บอกกับเว็บไซต์ “เช็คสุขภาพ” ว่า การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ทุกสาขาของวงการแพทย์ก็ตื่นตัว โดยเฉพาะสาขามะเร็งก็จะพยายามจัดระบบต่าง ๆ เช่น ระบบที่จะใช้การดูแลติดตามคนไข้ ระบบการเข้ารับการรักษา รายการแยกผู้ป่วยออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเสียโอกาสจากการรักษาโรค และหากคนไข้บางรายที่จำเป็นจะต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับไป

นพ.ไนยรัฐ ยังบอกอีกว่า สำหรับเมืองไทยแล้วจะมีการจัดหมวดหมู่คนไข้ โดยมีการติดตามคนไข้ตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามมาตราฐานของผู้เชี่ยวชาญของไทยอีกด้วย สำหรับสาขามะเร็ง แพทย์ก็จะดูว่าคนไข้คนไหนที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องมารับการรักษาและห้ามเลื่อนการรักษาออกไป เพราะหากเลื่อนออกไป โอกาสที่จะรักษาคนไข้ให้หายนั้นก็จะเกิดขึ้นได้ยาก  

“คนไข้มะเร็งกลุ่มแรก ๆ ที่มักให้ความสำคัญ คือคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งในระยะแพร่กระจาย และกลุ่มคนไข้มะเร็งในระยะเริ่มต้น คนไข้มะเร็ง 2 กลุ่มนี้มีโอกาสหายสูงมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมาโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ก็จะจัดพื้นที่ให้ปลอดภัย และพยายามให้บริการทางการแพทย์ต่าง ๆ ในจุดเดียว (One Stop Service) เช่น การลงทะเบียน การตรวจเลือด การตรวจหามะเร็ง ฯลฯ เหล่านี้พยายามจัดให้เสร็จในโซนเดียว ส่วนโซนที่มีผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็จะแยกไว้อีกที่ จะไม่เอามาปนกันกับพื้นที่ทั่วไป” นพ.ไนยรัฐกล่าว

เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้คนไข้เหมือนอยู่ใกล้หมอ

นพ.ไนยรัฐ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รักษาเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในช่วงการพักรักษาที่บ้าน คนไข้กลุ่มนี้อาจจะไม่ต้องกลับมาโรงพยาบาลก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนไข้เหล่านี้ไม่เสียโอกาสในการติดตามโรคมะเร็งที่เพิ่งรักษาไป ทั้งนี้ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามา และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้นำระบบติดตามคนไข้ทางออนไลน์ที่เรียกว่า Tele-medicine เข้ามาช่วยในการตรวจรักษาอาการทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับโรงพยาบาลบางแห่ง และหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ก็ยังจะต้องติดต่อกลับแพทย์ทางโทรศัพท์ หรืออีกช่องทางหนึ่งก็คือ LINE Application  ซึ่งคนไข้สามารถแชทกับหมอได้ หรือจะทำ Video Call  กับคนไข้ก็ทำได้เลยเช่นกัน 

รับยาถึงบ้าน ลดการแออัดในโรงพยาบาล

ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลหันมาใช้วิธีส่งยาไปถึงบ้านคนไข้ เพื่อช่วยลดความแออัดในการเข้ามาใช้บริการของคนไข้ในสถานพยาบาล 

ทั้งนี้ นพ.ไนยรัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไข้ไม่จำเป็นต้องเข้ามารับยาเองที่โรงพยาบาล เพียงแต่ยังต้องโทรศัพท์มาพูดคุยกับโรงพยาบาลเพื่อที่จะมีการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ ซึ่งช่วยลดปริมาณการรอคิวของคนไข้ในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างมาก 

สถานการณ์โรคมะเร็งในเมืองไทย

มะเร็งเต้านมยังเป็นโรคมะเร็งที่เกิดอันดับ 1  ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในเมืองไทย ตามมาด้วยโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างจะเยอะกว่าทางประเทศฝั่งตะวันตกมากถึง 3-4 เท่า 

แพทย์แนะ ปรับอาหารการกินและไลฟ์สไตล์เพื่อป้องกันมะเร็ง

นพ.ไนยรัฐ แนะนำว่า ไลฟ์สไตล์และอาหารการกินมีส่วนสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นจึงต้องใส่ใจให้มาก ส่วนสำหรับมะเร็งเต้านมในผู้หญิง แนะนำว่า ให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง อาจจะทำอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยเริ่มจากการดูขนาดและรูปร่างภายนอกของเต้านม ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือใช้วิธีเอาสองมือคลำดูว่ามีก้อนบริเวณเต้านมหรือไม่ 

นอกจากนี้ อาจทำได้โดยวิธีการตรวจบริเวณรักแร้ร่วมด้วย เพราะบางทีอาจมีโอกาสที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปที่รักแร้ได้ สำหรับคนที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งก็จะตรวจค่อนข้างยาก เป็นไปได้ แนะนำให้พบแพทย์ในสาขามะเร็งโดยตรงเพื่อตรวจปีละครั้ง 

อย่างไรก็ตามในช่วงล็อกดาวน์หรือช่วงโควิดอาจจะเดินทางไปโรงพยาบาลลำบาก แต่สำหรับหลายโรงพยาบาลในไทยแล้ว มีการจัดระบบเช็คอัพมาอย่างดีพอสมควร แนะนำให้ตรวจโดยตรงกับแพทย์จะเป็นที่น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งแพทย์จะได้แนะนำให้พยายามลดปัจจัยความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งด้วย เช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้ทำให้เกิดมะเร็งได้ง่าย โดยเฉพาะ มะเร็งปอด มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

นอกจากนี้ นพ.ไนยรัฐ ยังแนะให้ลดอาหารประเภทหมักดอง และเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย

 

ข้อมูลจาก: การแถลงข่าวกลุ่มย่อย Virtual Press Briefing “New Normal, Same Cancer” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง วันที่ 10 ธันวาคม 2563 ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom

16/12/2020
บทความที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (MHRA) ในสหราชอาณาจักร อนุมัติวัคซีนต้านโคโรนาไวรัส ของบริษัทไฟเซอร์ เป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อวันพุธที่ผ่านมา


ไฟเซอร์ จับมือ เมืองไทยประกันชีวิต และกรุงเทพดุสิตเวชการ ร่วมเติมเต็มโครงการ MTL Health Buddy


พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามในข้อตกลงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 26 ล้านโดส ณ ตึกสันติไมตรี

CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว