เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Ischemia/Infarction)
โดย : ปาณิศา โชติษฐยางกูร
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Ischemia/Infarction)

เมื่อการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจของคุณลดลงหรือถูกบล็อกบางส่วน คุณอาจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจของคุณได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ การไหลเวียนของเลือดที่ลดลงมักเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจบางส่วนหรือทั้งหมด

คุณอาจเคยได้ยินคำว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Cardia ischemia) หรือคำว่า โรคหัวใจขาดเลือด (Myocardial ischemia) จากแพทย์ นี่เป็นภาวะที่ความสามารถในการสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจอย่างฉับพลันและรุนแรง และอาจส่งผลให้เกิดหัวใจวายได้ ภาวะนี้มักจะนำไปสู่จังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอย่างรุนแรง

แพทย์อาจเลือกใช้การรักษาและฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือดให้สามารถลำเลียงเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ อาจรวมถึงการรักษาด้วยยา หรือการขยายหลอดเลือดหัวใจ (Angioplasty) เพื่อช่วยเปิดหลอดเลือดแดงอุดตัน หรือการผ่าตัดบายพาส

คุณสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ด้วยการทำให้หัวใจแข็งแรงโดยการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับหัวใจของคุณ

สัญญาณและอาการที่บ่งบอกถึงโรคหัวใจขาดเลือด

สัญญาณและอาการที่บ่งบอกถึงโรคหัวใจขาดเลือดอาจไม่แสดงในบางคน ซึ่งจะเรียกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดโดยที่ไม่มีอาการ (Silent ischemia) อย่างไรก็ตามสัญญาณและอาการที่บ่งบอกบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้ เช่น เจ็บบริเวณหน้าอก หรือค่อนมาทางซ้าย ภาวะนี้เรียกว่า อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina pectoris) นอกจากนี้ยังมีสัญญาณและอาการแสดงอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นในสตรี ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน เช่น    

  • มีอาการปวดคอหรือกราม บางครั้งความเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นที่บริเวณไหล่หรือแขน
  • มีการเต้นของหัวใจถี่และเร็ว 
  • มีอาการหายใจลำบากเมื่อมีกิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • เหงื่อแตก
  • อ่อนเพลีย

เมื่อใดควรไปพบแพทย์

หากคุณมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงและยาวนานกว่าปกติ คุณควรเข้ารับบริการความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน 

สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด

หากคุณมีการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดหัวใจลดลง คุณอาจจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดที่ลดลงทำให้ปริมาณออกซิเจนที่เข้าสู่หัวใจของคุณลดลงเช่นกัน คุณจะค่อยๆ มีอาการมากขึ้นจากการอุดตันในหลอดเลือดแดงเมื่อเวลาล่วงเลยไป อย่างไรก็ตามอาการสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อหลอดเลือดแดงอุดตันอย่างกะทันหัน

หากคุณมีภาวะเหล่านี้ คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด:

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease): เมื่อคอเลสเตอรอลถูกสร้างขึ้นในผนังหลอดเลือดและขัดขวางการไหลเวียนของเลือด คุณมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด อีกนัยหนึ่ง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • การเกิดลิ่มเลือด: เกิดจากคราบไขมันหนาที่ติดตามหลอดเลือดหลุดออกมาทำให้เกิดลิ่มเลือด และอาจเข้าไปอุดตันหลอดเลือดแดง ซึ่งนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและส่งผลให้หัวใจวาย อย่างไรก็ตามการเกิดลิ่มเลือดจะพบได้มากที่หลอดเลือดหัวใจ และแทบจะไม่พบที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย 
  • ภาวะหลอดเลือดหัวใจหดตัวอย่างรุนแรง (Coronary artery spasm): ภาวะหลอดเลือดหัวใจหดตัวอย่างรุนแรงในผนังหลอดเลือดสามารถลดหรือกีดขวางการไหลของเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งภาวะนี้ไม่ใช่สาเหตุทั่วไปของโรคหัวใจขาดเลือด

กิจกรรมหรือสภาวะต่อไปนี้สามารถกระตุ้นโรคหัวใจขาดเลือดได้: 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด 

โรคหัวใจขาดเลือดอาจพัฒนามากขึ้น หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้: 

  • คุณสูบบุหรี่หรืออยู่ในกลุ่มควันบุหรี่มือสอง (Second-hand smoke - SHS) ในระยะยาวผลที่ตามมาของการสัมผัสกับควันบุหรี่ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแดงด้านในเสียหาย ด้วยปัจจัยนี้คอเลสเตอรอลและสารต่างๆ ในกระแสเลือดถูกหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เลือดในหลอดเลือดแดงไหลเวียนได้ช้าลง การสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแดงหดเกร็งและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด
  • หากคุณเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 คุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด รวมทั้ง หัวใจวาย และโรคเกี่ยวกับหัวใจอื่นๆ
  • หากคุณมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง คุณมีแนวโน้มที่จะพัฒนามาเป็นโรคหัวใจขาดเลือด เนื่องจากคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นไขมันไม่ดีหรือที่เรียกว่าไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) เป็นส่วนสำคัญในการทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน
  • หากคุณมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง คุณอาจมีโอกาสเป็นภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เพราะไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันในเลือดอีกประเภทหนึ่ง
  • หากคุณมีน้ำหนักเกิน คุณอาจมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง (HBP) และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ภาวะเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด
  • หากผู้หญิงมีรอบเอวขนาดใหญ่กว่า 35 นิ้ว หรือ 89 เซนติเมตร และผู้ชายมีขนาดใหญ่กว่า 40 นิ้ว หรือ 102 เซนติเมตร คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ
  • หากคุณออกกำลังกายไม่เพียงพอ คุณอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและเป็นโรคอ้วนได้ ซึ่งโรคอ้วนมีความเชื่อมโยงกับระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ที่สูงขึ้น กล่าวคือผู้ที่ออกกำลังกายแอโรบิกเป็นประจำอาจมีหัวใจที่แข็งแรง และมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและหัวใจวาย การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยลดระดับความดันในเลือดได้

การวินิจฉัยที่ใช้กับโรคหัวใจขาดเลือด 

ในระหว่างการวินิจฉัยคุณจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจทำการตรวจร่างกายหากจำเป็น หลังการวินิจฉัยคุณอาจได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้: 

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram - ECG): แพทย์จะนำแผ่นขั้วไฟฟ้า (Electrodes) ที่มีสายไฟต่ออยู่มาติดที่หน้าอกและหลังจากนั้นเครื่องจะประมวลผลเป็นกราฟคลื่นหัวใจ ในระหว่างการทดสอบนี้อาจตรวจพบสัญญาณความเสียหายของหัวใจหากคุณมีอาการดังกล่าว
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Stress test): การทดสอบนี้จะดำเนินการระหว่างการออกกำลังกาย เช่น ขณะเดินบนลู่วิ่งหรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ โดยแพทย์จะเฝ้าสังเกตจังหวะการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และการหายใจ ซึ่งในระหว่างการออกกำลังกายการสูบฉีดของหัวใจมักจะเร็วขึ้นและหนักขึ้นกว่าปกติ การทดสอบนี้จะช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบความผิดปกติของหัวใจที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram): แพทย์จะมีหัวตรวจชนิดพิเศษที่ส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจ อุปกรณ์นี้จะสร้างภาพวิดีโอเมื่อคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านหัวใจ และช่วยตรวจสอบว่าหัวใจของคุณเกิดความเสียหายหรือหัวใจสูบฉีดเลือดเป็นปกติหรือไม่
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงร่วมกับการออกกำลังกาย (Stress echocardiogram): ในบางกรณีแพทย์อาจจะวินิจฉัยด้วยวิธีการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงร่วมกับการออกกำลังกายซึ่งคล้ายกับการการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแบบปกติ การทดสอบนี้จะดำเนินการในห้องทดสอบทางการแพทย์ และประมวลผลหลังจากที่คุณออกกำลังกายบนลู่วิ่งหรือปั่นจักรยานอยู่กับที่
  • การทดสอบความเครียดนิวเคลียร์ (Nuclear stress test): แพทย์อาจฉีดสารกัมมันตภาพรังสีจำนวนเล็กน้อยเข้าสู่กระแสเลือดของคุณก่อนออกกำลังกาย เพื่อให้สร้างภาพว่าเลือดไปถึงหัวใจและปอดได้ดีเพียงใดในระหว่างออกกำลังกาย ซึ่งสามารถระบุได้ว่ามีปัญหาการไหลเวียนของเลือดหรือไม่
  • การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiography): แพทย์จะสอดสายตรวจขนาดเล็กผ่านเข้าทางหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจะใช้สารทึบรังสีฉีดเข้าไป และแพทย์จะประเมินรายละเอียดของหลอดเลือด
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Cardiac CT scan): แพทย์อาจแนะนำให้คุณทำการทดสอบนี้เพื่อตรวจสอบว่าคุณมีแคลเซียมสะสมอยู่ในหลอดเลือดแดงของหัวใจหรือไม่ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดหัวใจ แพทย์อาจใช้การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (coronary CT angiogram) ร่วมด้วย

วิธีการรักษาโรคหัวใจขาดเลือด 

การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบางชนิดหรือการผ่าตัด หรือทั้งสองอย่างขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ 

การรักษาด้วยยา: 

แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบางชนิดเพื่อรักษาโรคหัวใจขาดเลือด เช่น: 

  • ยาแอสไพริน: ในบางกรณีแพทย์อาจใช้ยาแอสไพรินเพื่อละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ หากคุณมีภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding disorder) หรือกำลังใช้ยาที่ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดตัวอื่นอยู่ คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อที่แพทย์จะเปลี่ยนมาใช้วิธีอื่นแทน
  • ยาขยายหลอดเลือดในกลุ่มไนเตรต: การใช้ยากลุ่มนี้จะทำให้หลอดเลือดแดงขยายขึ้น และยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจได้ดีขึ้น หัวใจของคุณจะทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  • ยาเบต้าบล็อกเกอร์: แพทย์อาจใช้ยากลุ่มนี้เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหัวใจ อีกทั้งยังช่วยชะลออัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดันโลหิต และช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังหัวใจได้ง่ายขึ้น
  • ยาลดไขมันในเลือด: หลังจากใช้ยากลุ่มนี้ไขมันต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดหัวใจจะลดลง
  • ยาลดความดันโลหิต (ACE): แพทย์อาจใช้ยาเหล่านี้เพื่อช่วยให้หลอดเลือดผ่อนคลายและลดความดันโลหิต แพทย์อาจให้ใช้ยาในกลุ่มยารักษาโรคความดันโลหิตสูง (ACE inhibitor) หากคุณมีความดันโลหิตสูงหรือเป็นโรคเบาหวานในขณะที่มีภาวะโรคหัวใจขาดเลือด หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหากหัวใจของคุณไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือด (Ranolazine/Ranexa): แพทย์อาจใช้ยานี้เพื่อบรรเทาหลอดเลือดหัวใจและเพื่อผ่อนคลายอาการปวดเค้นหัวใจ แพทย์อาจสั่งยารักษาอาการปวดเค้นหัวใจอื่นๆ ร่วมกับยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือดเพื่อช่วยให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ยาต้านแคลเซียม ยาเบต้าบล็อกเกอร์ หรือยาขยายหลอดเลือดในกลุ่มไนเตรต

การเตรียมความพร้อมก่อนพบแพทย์:

คุณควรเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อนการนัดหมาย อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณบ่งบอกภาวะโรคหัวใจขาดเลือด ยารักษาโรคทั้งหมด และเตรียมคำถามที่ต้องการได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ข้อมูลเบื้องต้นที่แพทย์อาจต้องสอบถามจากคุณ:

แพทย์อาจซักถามหลายคำถาม เช่น อาการเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ มีความรุนแรงระดับใด สมาชิกในครอบครัวมีใครป่วยโรคนี้หรือไม่ เป็นต้น

ประวัติเจ้าของบทความ

ปาณิศา โชติษฐยางกูร (Panisa Chotitayangkoon) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจ และปริญญาโท  คณะบริหารธุรกิจ เอกการจัดการการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผ่านการอบรมการแปลของชมรมนักแปลและล่ามอาชีพ (Professional Translators and Interpreters Society) หลักสูตรการแปลเอกสารภาษาอังกฤษเป็นไทย รุ่นที่ 1: (Intermediate Level - คู่ภาษาอังกฤษ - ไทย)

ปาณิศาได้รับรางวัลบทความวิจัยยอดเยี่ยมเรื่อง “A Comparison of Using English Language in the Homestay Business for Preparing into ASEAN Between Samutsongkram Province, Thailand and Hoi An Province, the Socialist Republic of Vietnam” จาก Conference of Business Administration and Liberal Arts โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ปี พ.ศ. 2559 และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร RMUTL Journal of Humanities and Social Sciences, Vol.3, Issue no.2  และได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่นเรื่อง “Developing Points of Attractions and Destinations: the Case Study of Samutsongkram Province, Thailand” จาก ICBTS 2016 International Business Tourism and Applied Sciences Research Conference เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ปี พ.ศ. 2559 

ปัจจุบัน ปาณิศาเป็นนักแปลอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์ นักแปลและล่ามอิสระด้านการทหาร การท่องเที่ยว การเงิน บัญชี และยานยนต์ และนักลงเสียงอิสระ

13/06/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว