เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst) อาการ สาเหตุ การรักษา
โดย : จารุศรี บุญสินสุข
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst) อาการ สาเหตุ การรักษา

ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst) คืออะไร

ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst) คือ ถุงที่เต็มไปด้วยของเหลว ซึ่งเรียกว่าถุงน้ำหรือซีสต์ที่อยู่ในรังไข่ รังไข่มีขนาดและรูปร่างคล้ายอัลมอนด์ ในระหว่างมีรอบเดือน “เซลล์ไข่” หรือไข่จะเติบโตในรังไข่ทั้งสองข้าง จากนั้นหนึ่งในไข่เหล่านั้นจะโตเต็มที่ ก่อนจะถูกปล่อยออกมาในช่วงคลอดบุตร

ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีถุงน้ำรังไข่ และบางครั้งถุงน้ำเหล่านั้นอาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง ซึ่งไม่เป็นอันตราย ความรู้สึกอึดอัดจะหายไปเองในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา โดยไม่ต้องรักษา

อย่างไรก็ตาม หากถุงน้ำแตกออก อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายในเป็นประจำ ซึ่งแพทย์จะสามารถระบุภาวะที่อาจร้ายแรงได้

อาการของถุงน้ำรังไข่เป็นอย่างไร

ถุงน้ำส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย และไม่มีอาการ เนื่องจากสามารถหายไปได้เอง แต่ในกรณีที่ถุงน้ำรังไข่มีขนาดใหญ่ จำเป็นจะต้องได้รับการดูแล เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คุณควรไปพบแพทย์เมื่อ:

ปวดท้องน้อย ซึ่งอาจปวดหนึบ ๆ หรือปวดแปลบบริเวณช่องท้องส่วนล่าง โดยเฉพาะด้านที่มีถุงน้ำ

มีอาการแน่นท้องหรือหน่วงท้อง โดยเฉพาะบริเวณช่องท้อง

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
คุณควรไปพบแพทย์เมื่อ:

  • ปวดบริเวณช่องท้องหรือท้องน้อยอย่างฉับพลันและรุนแรง
  • มีไข้และอาเจียนร่วมกับอาการปวดท้อง

ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น และควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการ เช่น เกิดภาวะช็อค ตัวเย็น ผิวหนังเย็นชื้น หายใจเร็ว วิงเวียนศีรษะ หรืออ่อนแรง

สาเหตุของถุงน้ำรังไข่คืออะไร

ในแต่ละเดือน โครงสร้างคล้ายถุงน้ำจะโตขึ้นตามปกติ เรียกว่า ฟอลลิเคิล (follicles) ซึ่งจะผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน และปล่อยไข่เมื่อมีการตกไข่

เมื่อฟอลลิเคิลเติบโตไปเรื่อย ๆ พวกมันจะกลายเป็นถุงน้ำธรรมดาที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่ (functional cyst) หรือเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดไม่ร้าย ถุงน้ำธรรมดามี 2 ประเภทได้แก่

ถุงน้ำที่รังไข่ (Follicular cyst) ถุงน้ำประเภทนี้จะเกิดขึ้นเมื่อฟอลลิเคิลใบที่โตกว่าใบอื่นไม่แตก หรือไม่ปล่อยไข่ออกมา จากนั้นฟอลลิเคิลจะเติบโตต่อไปจนกลายเป็นถุงน้ำที่รังไข่

ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteum cyst) หลังกระบวนการตกไข่ ฟอลลิเคิลใบที่โตกว่าใบอื่นจะกลายเป็นคอร์ปัสลูเทียม คอร์ปัสลูเทียมมักจะหายไปเมื่อไม่มีการตั้งครรภ์ แต่ในบางกรณี มันอาจเต็มไปด้วยของเหลวหรือเลือด ซึ่งจะโตต่อไปเป็นถุงน้ำ

โดยทั่วไป ถุงน้ำธรรมดาจะไม่เป็นอันตราย และไม่ค่อยทำให้เจ็บปวด ปกติจะหายไปเองภายในสองหรือสามรอบเดือน

ถุงน้ำรังไข่ชนิดอื่น ๆ

ถุงน้ำรังไข่ชนิดไม่ร้าย มี 3 ประเภท ได้แก่ ถุงน้ำเดอร์มอยด์ ถุงน้ำซีสตาดีโนมา และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ทั้งถุงน้ำเดอร์มอยด์และถุงน้ำซีสตาดีโนมาอาจใหญ่ขึ้น และเบียดจนรังไข่เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งต่อมาจะทำให้รังไข่เกิดการบิดตัว หรือที่เรียกว่าภาวะรังไข่บิดขั้ว (ovarian torsion) การบิดนี้อาจทำให้เลือดที่ไหลไปเลี้ยงรังไข่หรือท่อนำไข่ลดลงหรือหยุดลง ซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรับการผ่าตัดฉุกเฉิน

การวินิจฉัยมีอะไรบ้าง

ถุงน้ำสามารถตรวจพบได้โดยการตรวจภายใน แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจบางอย่าง เพื่อระบุประเภทของถุงน้ำ และพิจารณาว่าต้องใช้วิธีรักษาแบบไหน คำแนะนำในการตรวจยังขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของถุงน้ำ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีดังนี้

ตรวจสอบการตั้งครรภ์ : แพทย์อาจแนะนำให้คุณตรวจสอบการตั้งครรภ์ ผู้ป่วยบางรายที่มีผลการตรวจเป็นบวก อาจมีถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียมได้ แต่ไม่เสมอไป

อัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน : แพทย์อาจใช้วิธีอัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน เพื่อยืนยันว่ามีถุงน้ำหรือไม่ และช่วยระบุตำแหน่งและประเภทของถุงน้ำ วิธีนี้ยังช่วยให้แพทย์บอกได้ว่าถุงน้ำนั้นมีลักษณะแข็งหรือไม่ แน่นไปด้วยของเหลวหรือไม่ หรือผสมกัน

ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ (CA 125 blood test) : แพทย์อาจแนะนำการตรวจนี้ หากบางส่วนของถุงน้ำมีลักษณะแข็ง และมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ อย่างไรก็ตาม ระดับของสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่อาจสูงขึ้นได้ แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

การผ่าตัดส่องกล้อง : แพทย์อาจใช้การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อดูรังไข่ และเอาถุงน้ำรังไข่ออกมา กระบวนการผ่าตัดนี้ต้องมีการวางยาสลบ

วิธีรักษาถุงน้ำรังไข่มีอะไรบ้าง

แพทย์อาจเลือกวิธีรักษาโดยพิจารณาจากอายุของผู้ป่วย ประเภทและขนาดของถุงน้ำ รวมถึงอาการของผู้ป่วย วิธีรักษาอาจได้แก่

สังเกตอาการ : ผู้ป่วยบางรายต้องรอและตรวจซ้ำ เพื่อดูว่าถุงน้ำหายไปภายในไม่กี่เดือนหรือไม่ แพทย์จะเลือกวิธีนี้หากไม่แสดงอาการใด ๆ และคุณอาจมีถุงน้ำขนาดเล็กและไม่ยุ่งยาก ซึ่งเต็มไปด้วยของเหลว นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ติดตามอาการด้วยวิธีอัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกรานเป็นครั้งคราว เพื่อตรวจสอบว่าขนาดของถุงน้ำเปลี่ยนแปลงหรือไม่

การใช้ยา : อาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดถุงน้ำรังไข่อีก อย่างไรก็ตาม ถุงน้ำที่มีอยู่เดิมจะไม่ยุบลง แม้ว่าคุณจะใช้ยาคุมกำเนิดก็ตาม

การผ่าตัด : ถ้าถุงน้ำเติบโตหรือใหญ่ขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดออก ผู้ป่วยบางรายไม่ต้องทำการผ่าตัดเลาะถุงน้ำรังไข่เพื่อเอารังไข่ออก บางรายต้องใช้วิธีผ่าตัดเอารังไข่ออก เพื่อกำจัดรังไข่ข้างที่ได้รับผลกระทบ โดยยังเหลือรังไข่อีกข้าง ถ้าถุงน้ำกลายเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยอาจจะถูกส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช ผู้ป่วยบางรายอาจต้องผ่าตัดเอามดลูกออกทั้งหมด พร้อมกับทำเคมีบำบัดหรือฉายรังสี เพื่อกำจัดมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ที่ได้รับผลกระทบ ถ้าถุงน้ำรังไข่โตขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด

การเตรียมตัวไปพบแพทย์

ก่อนมาพบแพทย์ คุณควรจดบันทึกข้อมูล เช่น อาการ ยาและวิตามิน อาหารเสริมอื่น ๆ ประวัติการรักษา และคำถามที่ต้องการถามแพทย์

สิ่งที่อาจเจอขณะพบแพทย์

ในระหว่างการสัมภาษณ์ผู้ป่วย แพทย์อาจถามคำถามหลายข้อ เช่น มีอาการบ่อยแค่ไหน อาการรุนแรงแค่ไหน และมีอะไรบ้างไหมที่ช่วยทำให้อาการดีขึ้น

ประวัติเจ้าของบทความ

จารุศรี บุญสินสุข จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกภาษาฝรั่งเศส โทภาษาอังกฤษ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต ผ่านการอบรมหลักสูตรการแปลเอกสารภาษาอังกฤษเป็นไทย รุ่นที่ 1 (Intermediate Level) ของชมรมนักแปลและล่ามอาชีพ

จารุศรี มีประสบการณ์การแปลเอกสารจากภาษาอังกฤษเป็นไทย อาทิ คู่มืออบรมผู้จัดการของบริษัทเครื่องสำอางแห่งหนึ่ง คู่มือการใช้งานแอปพลิเคชันของธนาคารแห่งหนึ่ง และปัจจุบัน จารุศรีเป็นนักแปลอิสระ แปลบทพากย์และซับไตเติล และเป็นนักแปลอิสระสายกฎหมายและการแพทย์ รวมถึงสายไอที

14/06/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว