เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / ท้องผูก (Constipation): อาการ สาเหตุและการรักษา
โดย : สุดารัตน์ อินสวาสดิ์
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
ท้องผูก (Constipation): อาการ สาเหตุและการรักษา

ท้องผูก (Constipation) เป็น ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระไม่สม่ำเสมอและมีการถ่ายอุจจาระลำบากเป็นระยะเวลานาน อาการท้องผูกทั่วไปจะรักษาหายได้เมื่อคุณปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่ภาวะท้องผูกเรื้อรังยากต่อการรักษา และ มักเป็นอาการของโรคต่าง ๆ ที่พบได้บ่อย ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะท้องผูกคือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน สตรีมีครรภ์ และ ผู้ที่นั่งทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 

อาการและอาการแสดง

อาการต่าง ๆ ของภาวะท้องผูกประกอบไปด้วย การถ่ายอุจจาระลำบาก อุจจาระแห้งหรือแข็ง มีการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ท้องอืด ปวดท้อง อุจจาระมีเลือดปน เลือดออกหลังจากถ่ายอุจจาระ มีความรู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด หรือ รู้สึกว่ามีอุจจาระตกค้าง 

สาเหตุของอาการท้องผูก

ภาวะท้องผูกเกิดขึ้นเพราะอุจจาระมีการเคลื่อนตัวที่ช้ากว่าปกติ เนื่องจากรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยและดื่มน้ำไม่เพียงพอ ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย นั่งนานทั้งวัน ตั้งครรภ์ มีภาวะเครียด หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โรคบางชนิดยังเป็นสาเหตุของท้องผูก เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ต่ำ พาร์กินสัน หลอดเลือดสมอง ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือ ฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง ลำไส้อุดตันที่อาจเกิดมาจากมะเร็งลำไส้ มะเร็งในช่องท้อง หรือแผลปริที่ปากทวารหนัก และยังเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ และยารักษาโรคซึมเศร้า ท้องผูกทั่วไปไม่ถือเป็นภาวะที่อันตราย เว้นเสียแต่ว่าเป็นภาวะอาการที่เกิดมาจากโรคร้ายแรงต่าง ๆ

การรักษาภาวะท้องผูก

ภาวะท้องผูกทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ดื่มน้ำประมาณ 1.5 ถึง 2 ลิตรต่อวัน รับประทานอาหารที่มีกากใย เพิ่มอาหารจำพวกผักและผลไม้ เช่น ผักโขม มะละกอ หรือกล้วย หากการปรับพฤติกรรมและการควบคุมอาหารยังไม่ช่วยขจัดภาวะท้องผูกได้ ก็สามารถลองเลือกซื้ออาหารเสริมกากใยเป็นตัวช่วย เช่น เมธามูซิล ไฟเบอร์คอน คอนซิล และ ซิทรูเซล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนประกอบของ ยาไซเลียม และ ยาเมทิลเซลลูโลส ที่จะช่วยเพิ่มอุจจาระ ยากระตุ้นการบีบตัว บิสแซโคดิล ยาระบายเพิ่มปริมาตรน้ำ แลคตูโลส และ แมกนีเซียม ซิเตรต หรือ ยาสวนทวาร ฟลีตเอนีมา และยาหล่อลื่นลำไส้ ซึ่งมีแร่ธาตุที่จะช่วยให้อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ง่ายขึ้น และยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวลง 

อีกทั้งวิธีอื่น ๆ ที่รวมถึงการฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้ตึงขึ้นหรือคลายตัวเพื่อช่วยรักษาอาการท้องผูก ส่วนกรณีที่ร้ายแรงกว่าอาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด แพทย์จะวินิจฉัยด้วยวิธีซักประวัติผู้ป่วยและตรวจร่างกายบริเวณหน้าท้องและลำไส้ตรงเพื่อตรวจหาริดสีดวง หรือการฉีกขาดบริเวณลำไส้ส่วนปลาย หากพบว่าอุจจาระมีเลือดปนก็จะใช้วิธีส่องกล้องตรวจลำไส้ อาจจะมีการส่งตรวจเลือดและเอกซเรย์หากจำเป็น

เคล็ดลับการปรับพฤติกรรมและการรักษาตัวเองที่บ้านที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ และ ธัญพืช ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อน หลีกเลี่ยงยาที่ไม่มีใบสั่งแพทย์ หากคุณมีคำถามเพิ่มเติม กรุณาปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจและหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

เกี่ยวกับผู้แปล

สุดารัตน์ อินสวาสดิ์ จบปริญญาตรี ก็เริ่มสะสมประสบการณ์ทำงานในด้านการใช้ภาษาอังกฤษมาโดยตลอด เริ่มจากงานด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม ด้านการศึกษาในฐานะครูวิชาชีพ Montessori ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีโอกาสได้เป็นล่ามจำเป็นให้กับโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง จึงศึกษาเพิ่มเติมพร้อมกันนี้ยังเป็นนักแปลอาสาให้กับเว็บไซต์ TED.com 

ปัจจุบัน สุดารัตน์ อินสวาสดิ์ เป็นนักแปลและล่ามอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์

29/11/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว