
เครดิตภาพ: Healthline
เมื่อพบว่าเด็กมีภาวะเป็นออทิสติก น่าเศร้าใจที่คนไทยหลายคนยังมีความเข้าใจผิด ๆ ในเรื่องนี้อยู่มาก บ้างก็โทษว่าเป็นกรรมของเด็กทั้งหมด บ้างก็โทษว่าเป็นความผิดของแม่ทั้งหมด ทั้งที่จริงแล้วการที่เด็กเป็นโรคออทิสติกนั้น มาจากสาเหตุที่หลากหลายมาก อาทิ ความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ความผิดปกติของยีนและโครโมโซม การรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินมากเกินไป การใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ การได้รับมลพิษต่างๆ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่เป็นเวลานาน การได้รับเชื้อไวรัส พ่อและแม่ของเด็กมีอายุมากเกินไป ฯฯลฯ โดยเด็กที่เป็นออทิสติกจะมีความบกพร่องใน 4 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ด้านภาษาและการสื่อสาร ด้านพฤติกรรม รวมถึงด้านเชาวน์ปัญญา
คำถามที่น่าสนใจ คือ เราจะสามารถตรวจเพื่อดูว่าลูกเป็นออทิสติกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ไหม คำตอบคือ ตรวจได้ แต่ไม่ถึงขนาดฟันธง 100% เพราะตรวจได้เพียงในส่วนของการเช็คดูว่า มียีนบางตัวที่จะทำให้เด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการและมีแนวโน้มไปสู่การเป็นออทิสติกหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่ง การตรวจด้วยวิธีเจาะน้ำคร่ำตรวจโครโมโซม เจาะเลือดตรวจทางชีวเคมี หรืออัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ แม้ผลการตรวจจะไม่ได้บอกถึงภาวะออทิสติกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ก็สามารถบ่งบอกความผิดปกติที่ทำให้เด็กพิการทางสมองหรือบกพร่องทางสติปัญญาได้แบบอื่นได้ เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม ดังนั้น ออทิสติกจึงมักตรวจพบได้หลังจากที่เด็กคลอดออกมาแล้ว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจะสังเกตอย่างใกล้ชิด ว่าลูกมีอาการผิดปกติด้านพัฒนาการหรือไม่ เช่น ลูกไม่เคยร้องตามพ่อแม่เลย ไม่เคยยิ้มหัวเราะเมื่อพ่อแม่แกล้งหยอก พูดได้ช้ามากหรือพูดไม่ได้เลย พ่อแม่เรียกชื่อก็ไม่หัน คุยด้วยก็ไม่สบตาไม่มองหน้าใคร ฯลฯ
โดยสรุป ยิ่งสังเกตลูกบ่อย ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาและพัฒนาอาการออทิสติกได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ที่จะสามารถบำบัดฟื้นฟูเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนที่ ‘น้าแตง’ ในละครซีรี่ย์ ‘พี่น้องลูกขนไก่’ ได้กล่าวไว้ว่า “เขาอาจจะพัฒนาช้า แต่วันหนึ่ง...เขาจะค่อยๆเรียนรู้และเข้าใจได้เอง”
*** เช็คสุขภาพ ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด ***