เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / อนุทิน เผย การจัดหาวัคซีนโควิดเพื่อประชาชนคืบหน้า
โดย : วณิชชา สุมานัส
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
อนุทิน เผย การจัดหาวัคซีนโควิดเพื่อประชาชนคืบหน้า

20 ธันวาคม 2523,  กรุงเทพ - นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย จากการร่วมจัดหาวัคซีน Covid-19  ได้คืบหน้า โดยส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมกับ COVAX facility เจรจาความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3  ทั้งในเอเชียและยุโรป และการวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย 3 ชนิด ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1  ตนมั่นใจว่าคนไทยจะมีวัคซีนใช้ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกเมื่อวัคซีนพัฒนาสำเร็จ 

ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19)  โดยได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนตัวนี้เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน โดยตั้งเป้าครอบคลุมร้อยละ 50 ลดการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ได้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ “ทีมประเทศไทย” กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันเร่งรัดการจัดหาวัคซีนโควิดใน 3 แนวทาง เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อมีการพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จแล้ว ประเทศไทยจะมีวัคซีนไว้ใช้ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ การดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ ทั้งการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า และการตกลงแบบทวิภาคี การเจรจาขอความร่วมมือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ และการพัฒนาวัคซีนภายในประเทศเอง

นายอนุทินกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมใน COVAX facility (Expression of Interest) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563  และมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับกรมควบคุมโรค กองการต่างประเทศ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนในประเทศ เร่งประสานความร่วมมือเพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ นอกจากนี้ยังมีการเจรจาความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3  ในเอเชียและยุโรป ซึ่งได้ดำเนินการไปพร้อมกับการเจรจาแบบกลุ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนไทยมากยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตราเซเนกา ในการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนชนิด Adenoviral vector (AZD1222) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด นอกจากนี้ยังได้พูดถึงการเจรจาตกลงแบบทวิภาคีให้ครอบคลุมถึงการเจรจาเรื่องขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3  แล้ววัคซีนมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อให้ประเทศมีสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น หากการพัฒนาวัคซีนนั้นประสบความสำเร็จ

สำหรับในประเทศไทยนั้น การผลิตวัคซีนมีทั้งหมด 7 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ mRNA, DNA, Viral-like particle (VLP), Protein Subunit, Viral vector, Inactivated และ Live attenuated จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และมหาวิทยาลัย โดยการวิจัยมีความก้าวหน้ามากที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1  มี 3 เทคโนโลยีการผลิตได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัคซีนชนิด DNA โดยบริษัทใบโอเนท-เอเชียจำกัด และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทใบยาไฟโตฟาร์มจำกัด ซึ่งผู้วิจัยได้หารือกับหน่วยงานด้านการควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนอยู่บนกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เราอยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือหรือพัฒนาศักยภาพในด้านการขยายขนาดการผลิต เพื่อทำการผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในมนุษย์ตามแผนที่วางไว้คือไตรมาสแรกของปี 2564

 สำหรับแผนการเตรียมการนำวัคซีนมาให้บริการประชาชนนั้น กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างติดตามผลการวิจัยวัคซีนแต่ละชนิด เพื่อทราบข้อบ่งใช้ ประสิทธิภาพ ข้อควรระวัง เมื่อมีวัคซีนที่วิจัยสำเร็จพร้อมจำหน่าย แล้วจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพิจารณารับรอง และเตรียมของบประมาณสำหรับจัดหาวัคซีนโดยทำงานร่วมกับองค์การเภสัชกรรมในการนำเข้าวัคซีน เมื่อจัดหาวัคซีนได้แล้วก็จะจัดส่งวัคซีนแก่สถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ เพื่อให้บริการวัคซีนแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางการให้บริการวัคซีนโดยเป็นแนวทางในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ พร้อมทั้งมีระบบติดตามเฝ้าระวังอาการที่ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนที่เกิดขึ้นได้

ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข

20/10/2020
บทความที่เกี่ยวข้อง

สมาคมสายใยครอบครัวผนึกพันธมิตรเปิดตัวแอฟ APPEAR ยกระดับให้บริการด้านจิตเวช ส่งเสริมคนไทยใส่ใจสุขภาพจิต รู้เท่าทันสุขภาวะของตน


เจ แอนด์ เจ หยุดการทดลองวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลังจากที่อาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองบางรายมีอาการป่วยที่ยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้


สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยและชมรมแพทย์ผิวหนังเด็กแห่งประเทศไทยจัดเสวนา

CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว