เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / โรคต้อกระจก (Cataract): สาเหตุ อาการและการรักษา
โดย : รุจินพ เหมทนาม
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
โรคต้อกระจก (Cataract): สาเหตุ อาการและการรักษา

โรคต้อกระจก (Cataract) คือสภาวะที่เลนส์ตาขุ่นมัว ผู้ที่เป็นโรคต้อกระจกจะรู้สึกเหมือนมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านกระจกที่มีฝ้าจับ โรคต้อกระจกส่วนใหญ่จะค่อย ๆ แสดงอาการและอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหาในช่วงแรก แต่เมื่อนานเข้า โรคต้อกระจกจะส่งผลต่อการมองเห็น และทำให้การขับขี่ การอ่านหนังสือ รวมไปถึงการทำกิจวัตรประจำวันของคุณลำบาก

โรคต้อกระจกเกิดขึ้นได้ในดวงตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างแต่ไม่สามารถแพร่จากตาข้างหนึ่งไปสู่อีกข้างได้ โดยสัญญาณและอาการของโรคเป็นไปได้ดังนี้ 

  • มองเห็นภาพเบลอหรือมัว มองเห็นสีจาง ๆ
  • เมื่อมองไปที่แสงสว่างจ้าเช่น ไฟหน้ารถ ดวงอาทิตย์ หรือโคมไฟ คุณอาจเห็นวงแสงรอบ ๆ แสงเหล่านี้
  • เห็นภาพซ้อน
  • มีปัญหากับการมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อย
  • ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อยหรือต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย ๆ

ทั้งนี้อาจมีสัญญาณหรืออาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณกังวลเรื่องอาการ โปรดปรึกษาแพทย์

สาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจกโดยส่วนใหญ่คือความชราและการบาดเจ็บที่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อตา โรคต้อกระจกที่เกี่ยวกับความชราอาจมีอาการกำเริบรุนแรงขึ้นได้ 2 แบบ 

  • ก้อนโปรตีนก่อตัวที่เลนส์ตา ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน
  • เลนส์ตาที่ใสจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งจะทำให้เกิดรอยสีน้ำตาลอ่อน

เลนส์ตาประกอบด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งคุณอายุมากขึ้น เลนส์ตาจะยิ่งหนาขึ้นและยืดหยุ่นน้อยลง ซึ่งทำให้โปรตีนก่อตัวเป็นก้อนและบดบังแสงจนแสงผ่านเข้าสู่จอประสาทตาของคุณได้น้อยลง ทั้งนี้ จอประสาทตาซึ่งอยู่หลังตาชั้นในของคุณคือชั้นที่ไวต่อแสง ดังนั้นจึงทำให้คุณมองเห็นภาพเบลอหรือมัวแสง การที่เลนส์ตาของคุณเปลี่ยนสีโดยอาจเริ่มจากรอยสีน้ำตาลอ่อนนั้นจะเริ่มแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น คุณอาจไม่สามารถแยกระหว่างสีน้ำเงินกับสีม่วงได้

ตามปกติการรักษานั้นไม่จำเป็นหากคุณไม่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น หากการมองเห็นของคุณแย่ลงจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ วิธีรักษาเดียวคือ การผ่าตัด
โดยปกติ การผ่าตัดโรคต้อกระจกนั้นปลอดภัยและอาจไม่ถึงกับต้องนอนโรงพยาบาล การผ่าตัดแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

  • การผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็ก (การผ่าตัดโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง) ซึ่งแพทย์จะผ่ารูเล็ก ๆ ลงไปที่แก้วตา จากนั้นใช้คลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์ให้ต้อสลายแล้วจึงดูดต้อออกมา
  • การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ ซึ่งต้องผ่าแผลเป็นแนวยาวกว่าเพื่อเอาต้อออก โดยต้อที่เหลือจะถูกดูดออก

ในระหว่างการผ่าตัดทั้ง 2 วิธีนี้ เลนส์ตาธรรมชาติจะถูกเปลี่ยนด้วยเลนส์ตาเทียม (Intraocular lens) ตามปกติ การผ่าตัดจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยที่คุณจะไม่รู้สึกเจ็บ แพทย์จะหยอดยาชาให้ที่ตาของคุณและคุณจะรู้สึกตัวอยู่ตลอดการผ่าตัด

ข้อแนะนำในการดำเนินชีวิตและการดูแลตัวเองที่บ้านต่อไปนี้อาจช่วยคุณรักษาโรคต้อกระจกได้

  • พบแพทย์ทันทีหากความผิดปกติทางการมองเห็นของคุณเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
  • ตรวจสุขภาพสายตากับนักทัศนมาตรอย่างสม่ำเสมอ
  • ปกป้องดวงตาของคุณจากการบาดเจ็บหรือการได้รับแสงอาทิตย์เป็นเวลานานเกินไป ใส่แว่นกันแดดที่ป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตชนิดเอและบีได้ร้อย 100% โดยเฉพาะในวันที่แดดจัด 
  • รักษาระดับน่ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ดีหากคุณเป็นโรคเบาหวาน โรคต้อกระจกจะกำเริบอย่างรวดเร็วเมื่อปริมาณน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับสูง
  • ปรับปรุงให้ในบ้านมีความสว่างมากขึ้น
  • ใช้แว่นตาขยายขนาดตัวหนังสือในการอ่าน
  • จำกัดการขับรถตอนกลางคืนให้พอเหมาะ

หากคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยใดเพิ่มเติม โปรดติดต่อแพทย์เพื่อให้ได้ความเข้าใจต่อโรคและวิธีการรักษาที่ดีกว่า

เกี่ยวกับนักแปลและผู้เขียนบทความ

รุจินพ เหมทนาม จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร มีความหลงใหลในศาสตร์การแปลภาษาและผ่านการแปลงานแบบอิสระมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยเรียนจนกระทั่งจบการศึกษา นอกจากนี้ยังสนใจแวดวงการศึกษาจึงเข้าแสวงหาประสบการณ์การทำงานตำแหน่งนักวิชาการอุดมศึกษา ณ ศูนย์บริหารจัดการวิชาศึกษาทั่วไปและพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษมหาวิทยาลัยศิลปากร (General Education Administration and English Language Development Center: G&E Center)  

ปัจจุบัน รุจินพ เหมทนาม เป็นนักแปลและล่ามอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์

25/11/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว