เช็คสุขภาพ : ที่นี่ ... มีคำตอบให้ทุกคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน
หน้าแรก / บทความ / นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones): สาเหตุ อาการและการรักษา
โดย : รัชนก แสงเพ็ญจันทร์
ทบทวนบทความโดย : ทีมเช็คสุขภาพ
นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones): สาเหตุ อาการและการรักษา

เกิดจากการสะสมของสารซึ่งผลิตมาจากตับเพื่อย่อยไขมัน เช่น คอเลสเตอรอล สารบิลิรูบิน ซึ่งถูกใช้ไม่หมดเหลือสะสมคั่งอยู่ภายในถุงน้ำดี จนตกตะกอนจับตัวเป็นก้อนนิ่วกีดขวางท่อน้ำดี โดยก้อนนิ่วอาจมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ขนาดเล็กเหมือนทราย หรือขนาดใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ ทำให้มีอาการปวดและเกิดอันตรายต่อร่างกาย

กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี  ผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีโรคอ้วน ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่มักบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและทานอาหารที่มีเส้นใยต่ำ มีคอเรสเตอรอลสูง มีบุคคลในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคนี้  ผู้เป็นเบาหวาน ตับอักเสบหรือตับแข็ง ซึ่งโรคนี้มักพบได้ทั่วไป โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชายเนื่องจากมีฮอร์โมนแอสโตรเจน และยังพบมากในกลุ่มชาวอเมริกัน และชาวแมกซิกันอเมริกัน

นิ่วในถุงน้ำดีมี 2 ประเภท ได้แก่ นิ่วที่เกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอล (Cholesterol gallstones) มีสีเหลือง ซึ่งพบเกิดได้บ่อย และนิ่วที่เกิดจากการสะสมของเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment gallstones)  มีสีน้ำตาลเข้มและดำ

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

แม้แพทย์ยังไม่ยืนยันสาเหตุการเกิดโรคที่แน่นอน แต่อาจมีปัจจัยสาเหตุมาจาก ตับหลั่งสารจำพวกคอเลสเตอรอล หรือสารบิลิรูบิน (ซึ่งผลิตเมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายถูกทำลายไป) ออกมามากเกินกว่าที่น้ำดีจะละลายและใช้ได้หมดจนเหลือตกค้างในถุงน้ำดี หรือถุงน้ำดีขับสารออกไม่หมดทำให้น้ำดียังคงเหลือในถุงน้ำดีสะสมจนเข้มข้นและตกตะกอนกลายเป็นนิ่ว

ลักษณะอาการของนิ่วในถุงน้ำดี

ส่วนมากโรคนี้จะไม่แสดงอาการชัดเจน แต่หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่มากจะทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดช่วงท้องส่วนบนขวาอย่างรุนแรง ปวดบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวาแบบรุนแรงและฉับพลัน  ปวดไหล่บริเวณสะบักขวา มีไข้ อุจจาระมีสีซีด มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรงจนไม่สามารถนั่งเฉยๆ ได้ หรือมีอาการดีซ่านหรือตาเหลือง มีไข้สูงและหนาวสั่น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

แนวทางการตรวจวินิจฉัย  

แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมกับบุคคล เช่น การซักประวัติอาการและตรวจร่างกาย  การทำอัลตร้าซาวด์ช่องท้องหรือสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อตรวจถุงน้ำดี และการตรวจทางเดินน้ำดีด้วยการตรวจแบบเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการส่องกล้องท่อน้ำดีผ่านทางหลอดอาหาร (ERCP) หรือการตรวจสแกนตับและระบบการไหลเวียนของท่อน้ำดีด้วยการฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่ร่างกาย (HIDA) 

แนวทางการรักษา (ข้อมูลนี้ไม่สามารถใช้แทนคำแนะนำทางการแพทย์ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง)

  • การผ่าตัด เป็นวิธีที่แนะนำเมื่อมีก้อนนิ่วเกิดขึ้นซ้ำ หรือเมื่อถุงน้ำดีถูกผ่าตัดออกไปแล้ว
  • การรักษาด้วยการให้ยา เพื่อละลายก้อนนิ่ว ซึ่งอาจใช้เวลานาน วิธีการนี้ใช้ได้ผลดีสำหรับผู้ที่ไม่เหมาะรักษาด้วยการผ่าตัด
  • กรณีผู้ป่วยไม่แสดงอาการ อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา  แต่ควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 

ข้อแนะนำในการดูแลตนเองเมื่ออยู่บ้าน ควรควบคุมน้ำหนักตัว ทานโปรตีนและอาหารที่มีกากใยเพื่อลดคอเรสเตอรอล ลดอาหารที่มีไขมันสูง และควรหมั่นออกกำลังกาย

ประวัติผู้แปล

รัชนก แสงเพ็ญจันทร์ ปัจจุบันเป็นเลขานุการประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Committee on World Food Security: CFS) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี

ปัจจุบัน เป็นนักแปลและล่ามอาชีพสายกฎหมายและการแพทย์

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิงของบทความ

Ferri, Fred. Ferri’s Netter Patient Advisor. Philadelphia, PA: Saunders / Elsevier, 2012. Print version. page  965

Porter, R. S., Kaplan, J. L., Homeier, B. P., & Albert, R. K. (2009). The Merck manual home health handbook. Whitehouse Station, NJ, Merck Research Laboratories. Print version. page 243

Gallstones. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000273.htm. Accessed date  26/08/2015

Gallstones Definition. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gallstones/basics/definition/con-20020461. Accessed date 26/08/2015

28/11/2021
บทความที่เกี่ยวข้อง
CHECKSUKKAPHAP.COM
เลขที่ 598 ชั้น 6 ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
095-515-9229
ข้อกำหนดและเงื่อนไข ความเป็นส่วนตัว